เดินทอดน่อง ท่องชมธรรมชาติ ประกาศตนว่าช้า หาเวลานอนกลางวัน ฝันถึงโลกที่ดี กินอาหารที่ไม่เร่งผลิต ก่อนซื้ออะไรคิดสามครั้ง นั่งมองท้องฟ้า ดื่มน้ำชาสักป้าน อ่านกวีสักบท ลดเวลาดูทีวี มีความสุขกับปัจจุบัน สร้างสรรค์ชีวิตช้า...ช้า
วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2550
ช้ า แ ล้ ว เ ป ลี่ ย น
When we are Slow, the World will be Change.
กิตติชัย งามชัยพิสิฐ สถาบันต้นกล้า
วัฒนธรรมแห่งความเร็ว
วันนี้เราสามารถติดต่อกับเพื่อนที่ห่างไกลในอีกโลกหนึ่งด้วยเวลาเพียงเสี้ยววินาที เรากินอาหารที่มาจากอีกซีกโลกได้โดยยังดูสดใหม่ เราสามารถทำกำไรจากธุรกรรมทางการเงินได้เพียงระยะเวลาไม่ถึงวัน เราไปหาเพื่อนที่อยู่ห่างไกลในชั่วเวลาเพียงข้ามวัน โลกของเราเปลี่ยนไปมาก ละครเรื่องใหม่ในทีวี หนังเรื่องใหม่ในโรงภาพยนตร์เปลี่ยนเวียนกันมาทุกสัปดาห์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ อาหาร หนังสือ ข่าวสาร เสื้อผ้า เครื่องดื่ม เปลี่ยนรุ่นใหม่แทบทุกวัน ทุกๆ อย่างดูรวดเร็วขึ้นทุกที และเราหลายคนก็ดูจะพึงพอใจในความเร็วที่ได้ ความเร็วดูจะมาคู่กับประสิทธิภาพอยู่เสมอ
แต่โลกอันรวดเร็วที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยใช้เวลาเป็นแรมเดือนลดลงมาเพียงข้ามวันหรือชั่ววินาทีนี้ เรากลับค้นพบว่ามันไม่ได้ทำให้ชีวิตเรามีเวลามากขึ้น ดูเหมือนว่าสิ่งต่างๆ ก็ยังเร็วไม่พอสำหรับเราอีกนั่นเอง เราอยากได้คอมพิวเตอร์ที่เร็วขึ้น ระบบสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้น การเดินทางที่เร็วขึ้น อาหารจากอีกซีกโลกที่สดขึ้น ร่ำรวยเร็วมากขึ้น สินค้าออกใหม่เร็วขึ้น ราวกับว่าความเร็วเป็นคุณธรรมอันสำคัญที่เราต้องยึดถือปฏิบัติ
l เร็วเพราะระบบอุตสาหกรรม
ในโลกของอุตสาหกรรม การผลิตแบบสายพานที่จะต้องส่งต่อกันเป็นช่วงๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงภาคการผลิตอีกต่อไปแล้ว ธุรกรรมต่างๆ ของเรามีต้นแบบมาจากระบบการผลิตแบบฟอร์ดที่กำเนิดในยุคแรกๆ ของอุตสาหกรรมนิยม เป็นการผลิตที่แต่ละคนต้องทำงานให้เสร็จและรับช่วงต่องานจากคนอื่นภายในเวลาที่กำหนด หากเราช้านั่นหมายถึงการกระทบต่อคนอื่นๆ ที่ต้องรับช่วงต่อจากเราและคนที่ต้องส่งต่อให้เรา
จังหวะในการทำงานจึงต้องกำหนดให้ชัดเจนและทำในเวลาที่กำหนดมาจากวิศวกรระบบ เราไม่สามารถกำหนดจังหวะการทำงานของเราเองได้ เพราะเราเองก็เป็นเพียงกลไกหนึ่งของระบบการทำงานอันใหญ่โต ที่หากเฟืองตัวไหนทำงานผิดปกติก็จะทำให้ระบบทั้งหมดรวน ซึ่งนั่นอาจหมายถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเฟืองตัวนั้น!
จังหวะการทำงานที่รวดเร็วหมายถึงการผลิตที่รวดเร็ว การผลิตที่รวดเร็วหมายถึงการที่เราสามารถผลิตออกมาได้ก่อนคนอื่น มากกว่าคนอื่น แล้วเราก็จะเป็นผู้ชนะ...
ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ระบบอุตสาหกรรม แต่อยู่ที่เรารับเอาวัฒนธรรมแบบอุตสาหกรรมมาใช้ในด้านอื่นๆ ของชีวิตโดยไม่รู้ตัวมากเกินไปหรือเปล่า?
l เร็วเพราะระบบตลาดแบบทุนนิยม
ตามหลักการสะสมทุน วิธีการหากำไรในภาคการผลิตมีอยู่สองแนวทาง แนวทางแรกไม่เน้นขายมากแต่กำไรต่อชิ้นสูง แนวทางที่สองคือกำไรต่อชิ้นสูงแต่ขายได้มากชิ้น คงไม่ต้องสงสัยว่าปัจจุบันบริษัทต่างๆ จะเลือกแนวทางที่สอง แนวทางที่สองเน้นไปที่การหมุนเวียนสินค้าเร็ว ได้เงินกลับมาเร็วเพื่อผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกไปสู่ตลาดอีกครั้ง รวมทั้งสะสมไปขยายกิจการต่อไปได้อีก
เศรษฐกิจการตลาดภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น การหมุนเวียนของสินค้าเป็นหัวใจสำคัญในการสะสมทุน การผลิตสินค้าที่คงทนนั่นหมายถึงหายนะของบริษัท เพราะจะไม่สามารถขายสินค้านั้นได้อีก หรือหากไม่เช่นนั้นก็ต้องเร่งการออกสินค้ารุ่นใหม่ให้เร็วขึ้น ลดการสนับสนุนสินค้าเก่าเพื่อให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้สินค้ารุ่นเก่าได้อีกต่อไปเพราะมันจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เดี่ยวๆ ได้ ดังตัวอย่างของระบบคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่แม้จะยังใช้ได้แต่ก็ไม่สัมพันธ์กับผู้ใช้คนอื่นที่ใช้ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ
ดังนั้นเราจึงได้ใช้ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วสมใจอยาก
l เร็วเพราะบริโภคนิยม
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมนิยมและทุนนิยม ได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการดำรงชีวิตของผู้คน เป็นวัฒนธรรมของการผลิตในสิ่งที่ตนเองไม่ได้บริโภค และบริโภคในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ผลิต การแยกส่วนเช่นนี้ก่อให้เกิดการผลิตและบริโภคที่บิดเบี้ยว ที่เรียกว่าวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม
เมื่อการบริโภคกับการผลิตแยกขาดจากกันผ่านตลาดที่แลกเปลี่ยนด้วยเงิน การบริโภคจึงกลายเป็นการแสวงหาความพึงพอใจจากการได้ครอบครองสินค้า ส่วนการผลิตกลับกลายเป็นความทุกข์ยากทั้งทางกายและใจ ผลิตเพราะจำเป็นต้องผลิตเพื่อให้ได้เงินมายังชีพและบริโภค มิใช่ผลิตเพื่อบริโภคหรือผลิตเพราะความภาคภูมิใจอีกต่อไป
การแยกขาดจากการผลิตหมายถึงการไม่รู้กระบวนการได้มาของสิ่งที่ตนเองบริโภคว่าใช้ทรัพยากรอะไรผลิต ผลิตอย่างไร ใครผลิต ฯลฯ เมื่อมนุษย์กลายเป็นผู้บริโภค เขาจึงมิได้แสวงหาเพียงความพึงพอใจจากคุณค่าในการใช้สอย แต่แสวงหาคุณค่าจากการได้ครอบครองและคุณค่าจากการสร้างตัวตนด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงความปรารถนาการครอบครองและสร้างตัวตนมากขึ้นเรื่อยๆ
คุณค่าของการครอบครองและสร้างตัวตนกลายเป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ ใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างกำไร สินค้าใหม่ๆ ออกมาไม่ขาดสาย ผู้บริโภคก็ซื้อมันอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทรัพยากรมากมายถูกนำมาแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภค มิใช่เพื่อความอยู่รอดแต่เพื่อได้ครอบครองและสร้างคุณค่าแก่ตัวตนชั่วครั้งชั่วคราว
เมื่อผู้บริโภคแยกจากการผลิต พวกเขาไม่รู้ และส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจว่าต้นทางของสินค้ามันจะมาจากไหน ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือขูดรีดแรงงานเพียงไร เราสนใจแต่เพียงว่ามันให้ประโยชน์แก่เราได้เพียงไรต่างหาก
l เร็วเพราะจิตวิญญาณเปลี่ยนทิศทาง
เป้าหมายชีวิตของเราภายใต้อุตสาหกรรมนิยม คือการได้เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมตามคำสอนและการฝึกฝนทักษะจากโรงเรียน ส่วนภายใต้ทุนนิยมคือความร่ำรวยพอที่จะขยับขยายทุนของตนให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็โดยการแสวงหากำไรสูงสุด ในขณะที่เป้าหมายภายใต้วัฒนธรรมบริโภคนิยมของเราก็คือการได้ครอบครองสินค้าที่จะสามารถสร้างตัวตนของเราได้มากที่สุด
แล้วเป้าหมายอื่นของชีวิตเราล่ะ ในขณะที่เราวิ่งไล่ล่างาน ทำตามเป้าหมายบริษัท แสวงหาความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว และไล่ตามสินค้าใหม่ๆ ชีวิตและจิตใจของเราไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาความเข้าใจโลกและชีวิต
การศึกษา สังคมรอบข้าง หน้าที่การงานและการบริโภคของเรามุ่งไปสู่เป้าหมายอื่นที่ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อชีวิตที่สงบ โลกที่เกื้อกูล เป็นธรรมและสันติสุข
วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความรวดเร็วผลักและฉุดเราไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจนเราไม่มีเวลาที่จะนิ่งพอในการสำรวจตัวเอง
จังหวะชีวิตของเราเต้นไปตามเข็มนาฬิกา ระยะเวลาของโครงการ การแข่งขันในตลาด การเคลื่อนไหวของหุ้น ตารางเวลารถออก แล้วจังหวะชีวิตของเราจริงๆ แล้วมันอยู่ที่ไหน
l เร็วเพราะใคร เร็วเพราะอะไร
จะเกินเลยไปหรือไม่ หากจะสรุปว่ามนุษย์ไม่ได้ปรารถนาความเร็วโดยธรรมชาติ แต่อยากเร็วเพราะถูกทำให้อยาก อยากเร็วเพราะถูกกดดันจากคนรอบข้างที่เร็ว
นั่นเพราะเราคงไม่อาจปฏิเสธอีกเช่นกันว่าความอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความอยากเอาชนะสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของความอยากเร็วก็เป็นหนึ่งในความอยากของมนุษย์มานาน ดังนั้นคงไม่อาจบอกได้เต็มปากว่าเราอยากเร็วเพราะคนอื่น...
ถ้ามันเป็นไปได้ในสองทางแล้ว เราควรจะมีท่าทีอย่างไรกับความเร็วล่ะ?
- วัฒนธรรมช้าแบบไทย
คงจะเกินเลยไปหากบอกว่าวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ช้าและดีงามโดยตัวของมันเอง แน่นอนว่าในแต่ละวัฒนธรรมคงจะมีปัญหาอยู่บ้างไม่เช่นนั้นวัฒนธรรมแห่งความเร็วคงไม่สามารถเข้ามามีอิทธิพลมากเกินดังทุกวันนี้ แต่ในที่นี้จะลองมาสำรวจต้นทุนทางสังคมของไทยว่าวัฒนธรรมไทยมีอะไรที่เหมือนหรือต่างกับวัฒนธรรมของความเร็วที่กำลังแผ่ขยายอยู่ทุกวันนี้ เผื่อว่าจะค้นพบการปฏิบัติการที่เหมาะสมกับเนื้อดินของไทยได้
l วัฒนธรรมแบบเกษตร
วิถีการผลิตแบบเกษตรกรรมเป็นการผลิตที่ขึ้นต่อธรรมชาติ การทำเกษตรนั้นต้องพึ่งพาลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล และสรรพชีวิตทั้งหลาย มนุษย์ไม่สามารถกำหนดดินฟ้าอากาศได้ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ใช้ชีวิตตามจังหวะของธรรมชาติ เป็นวัฒนธรรมของการรอคอยและปรับตนให้เข้ากับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
ความร่วมมือของวีถีการผลิตแบบเกษตรเป็นความร่วมมือที่ไม่ขึ้นต่อกันแบบสายพานที่ต่อเป็นอนุกรม หากเป็นความร่วมมือแบบขนานที่ต่างก็สามารถทำหน้าที่หรือบทบาทตนเองได้ แล้วค่อยมารวมกันภายหลัง
การผลิตในวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมแต่ละคนสามารถทำงานชิ้นหนึ่งๆ ให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง แต่เมื่องานของตนเองไปรวมกับคนอื่นๆ ก็กลายเป็นงานชิ้นใหญ่ได้ เป็นลักษณะงานแบบขนาน เช่นการปลูกข้าว ที่แต่ละคนก็สามารถปลูกข้าวได้คนละกอ เริ่มตั้งแต่การไถ หว่านกล้า ปักดำ ดูแล ให้น้ำให้ปุ๋ย จนกระทั่งเก็บผลผลิตและชื่นชมกับมัน ได้เพียงคนเดียว แต่เมื่อทุกคนร่วมกันทำงานของตนเอง ก็สามารถทำนาได้เป็นผืนใหญ่
ขณะที่การผลิตแบบอุตสาหกรรม ที่การผลิตแบ่งย่อยออกไป มีลักษณะเป็นอนุกรม แต่ละคนทำเพียงหน้าที่เดียว งานขึ้นต่อกัน งานชิ้นหนึ่งประกอบด้วยงานชิ้นเล็กๆ ของคนหลายคน ภายใต้การบริหารของอีกคนหนึ่ง
ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าวิถีการผลิตแบบเกษตรของไทยมีการร่วมมือกันน้อย การยึดโยงกันของคนในสังคมเกษตร อาศัยการร่วมมือกันทำงานค่อนข้างมาก เพราะยังมีงานขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยแรงงานของคนจำนวนมาก เช่นเมื่อถึงหน้าเก็บเกี่ยว ข้าวในนาจะสุกพร้อมกัน จำเป็นต้องระดมการทำงานแบบขนานใหญ่ คือทำให้เสร็จเป็นผืนๆ ไป จึงเกิดวัฒนธรรมการลงแขกที่ทุกคนมาช่วยกันเก็บเกี่ยวทีละนา
เมื่อแต่ละคนสามารถรับผิดชอบในส่วนของตนเอง อีกทั้งงานของตนเองก็มีผลกระทบในทางลบต่อคนอื่นน้อย วิถีแบบนี้ก็ได้สร้างวัฒนธรรมของการไม่ยึดติดกับเวลาเพียงเล็กน้อยแบบรายชั่วโมง นาที หรือวินาที จึงไม่ต้องพึ่งพานาฬิกา หากยึดโยงกับเวลาตามธรรมชาติและฤดูกาล
ดังนั้นเราจึงมักจะพบว่าคนในสังคมไทยมักไม่ค่อยตรงต่อเวลา นั่นเพราะวัฒนธรรมฐานของเราเป็นฐานสังคมเกษตรที่ไม่ยึดมั่นเรื่องเวลาหยุมหยิมเหมือนวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่เข้ามาภายหลัง
ความเร่งรีบแทบไม่มีประโยชน์ในวิถีแบบเกษตรกรรม เพราะมนุษย์ไม่อาจสั่งการธรรมชาติได้ตามใจ ต่างจากการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่มีการสร้างอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้มนุษย์ควบคุมธรรมชาติให้ได้ และก็เพื่อนำมาควบคุมมนุษย์ด้วยกันอีกทีหนึ่ง ในโรงงานหรือในบริษัท การทำงานไม่ได้ขึ้นกับธรรมชาติหรือฤดูกาล เราประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศ ปุ๋ยเคมี ฝนเทียม ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เพื่อการควบคุมธรรมชาติให้ตามใจเรา หลังจากเราคิดว่าควบคุมธรรมชาติได้ เรากลับไม่อาจควบคุมความปรารถนาที่จะควบคุมมนุษย์คนอื่นๆ ได้
เราเร็วขึ้นทีละน้อย ควบคุมกันเองมากขึ้นจนกระทั่งสานเป็นวัฒนธรรมแห่งความเร็วภายใต้อุตสาหกรรมนิยม
l ตลาดแบบแบ่งปัน
การเกษตรที่มีจังหวะตามฤดูกาลไม่เอื้อให้เกิดการสะสมได้มากนัก เพราะมันจะเน่าเสียในไม่กี่วัน แม้กระนั้นมนุษย์ก็ยังคงแสวงหาความมั่งคั่งแก่ตนด้วยการค้นคิดวิธีการสั่งสมความมั่งคั่งให้ตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นโลหะมีค่าต่างๆ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน หรือกระทั่งอำนาจบารมี
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมเกษตรที่ผลิตผลไม่อาจเก็บได้นานกลับสร้างวัฒนธรรมของการแบ่งปันขึ้นมาในสังคม ดังคำถามที่แพร่หลายในสังคมไทย “หากได้ปลามาหนึ่งตัว จะทำอย่างไรให้กินได้นานที่สุด” คำตอบคือ “เอาไปแกงแล้วแบ่งให้เพื่อนบ้าน” คำถามและคำตอบเหล่านี้สะท้อนวัฒนธรรมเกษตรที่ไม่เน้นการเก็บความมั่งคั่งไว้คนเดียว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่ามันเก็บไม่ได้นานหรือเพราะความเชื่อว่าสิ่งที่เราได้มาเป็นการประทานจากธรรมชาติ แต่มันก็บ่มเพาะคนในสังคมให้แบ่งปัน
ถ้าลองเปลี่ยนคำถามเป็น “ถ้าเรามีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง จะทำอย่างไรให้ใช้มันทำประโยชน์ได้นานที่สุด” ล่ะ คำตอบจะออกมาอย่างไร?
l วัฒนธรรมอาหาร
อาหารในวัฒนธรรมไทย เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากจีน อินเดียและยุโรปด้วย แต่ก็ปรับให้เข้ากับภูมิประเทศและอากาศ มีอาหารตามฤดูกาล อาหารที่ใช้รักษาโรค และอาหารที่ต้องระวังสำหรับผู้เจ็บไข้ได้ป่วย และผู้มีธาตุเจ้าเรือนต่างกันไป อาหารจึงมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละคน
อย่างไรก็ตามอาหารหลักของเรายังคงเน้นไปที่พืชผักตามฤดูกาลและไม่ผ่านการปรุงแต่งมากเกินไป วัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญกับอาหารมากจนวิถีชีวิตแต่ละวันต้องใช้เวลาในการหา เตรียมและปรุงอาหารถึงหนึ่งในสี่ของวัน จึงจำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงเป็นแม่ที่รับภาระในการปรุงอาหาร ในขณะที่พ่อใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาอาหาร
เมื่ออาหารส่วนใหญ่ต้องหามากินแทบจะวันต่อวัน อาหารจึงมีไว้ยังชีพและแบ่งปันมากกว่าจะใช้เพื่อสะสมหรือค้าขายเอากำไร อาหารจึงสดใหม่ และผลิตอย่างใส่ใจ
ในยุคสมัยที่การเกษตรแบบดั้งเดิมถูกเบียดขับด้วยการเกษตรแบบอุตสาหกรรม ความหมายของอาหารเปลี่ยนไปเป็นสินค้า ดังนั้นมันจึงต้องสะสมได้ ผลิตง่าย ขายง่าย ขนส่งง่าย
ทุกวันนี้เราไม่ได้กินอาหารแต่กิน “สินค้า”
· วัฒนธรรมนับถือธรรมชาติและพุทธศาสนา
ภายใต้การขึ้นต่อธรรมชาติ แรกเริ่มมนุษย์จึงนับถือธรรมชาติหรือเรียกว่าถือผี (ภายหลังคำว่าผีกลายเป็นสิ่งชั่วร้ายน่ากลัว เมื่อมีความเชื่ออื่นเข้ามาแทนที่) ความเชื่อเรื่องการนับถือธรรมชาติ คือการร่วมกันเป็นชุมชนที่มีความเชื่อและจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการมีชีวิตรอดและสงบสุข พิธีกรรมออกมาในรูปของการบูชาธรรมชาติหรือผี ทั้งผีป่า ผีน้ำ ผีนา ผีดิน ผีบ้าน ผีเรือน ผีแถน มีพิธีก่อนทำนาและเก็บเกี่ยว
หรือแม้เมื่อศาสนาพุทธเข้ามา คนไทยก็ยังนำเอาศาสนามาผูกโยงกับวิถีการเกษตรเพื่อยึดโยงคนไว้ร่วมกัน ดังเช่นงานบุญประเพณี ๑๒ เดือนที่แพร่หลายในภาคเหนือ อีสาน และกลาง
พุทธศาสนาให้คุณค่าแก่ความช้า ให้คุณค่าแก่ความสงบ การทำอะไรช้าๆ ซ้ำๆ ทีละอย่าง เป็นวิธีการที่ช่วยให้เราอยู่กับตนเองและโลกได้ละเอียดลึกซึ้งจนกระทั่งทำความเข้าใจกับมันได้ เพื่อให้มีชีวิตที่ปกติสุข ไม่ตกเป็นทาสกิเลสของตน ใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ
แม้ว่าปัจจุบันพุทธศาสนาในไทยจะเสื่อมความหมายในแง่การบอกทิศทางทางจิตวิญญาณไปมาก แต่แง่มุมที่สอดคล้องกับความช้ายังปรากฏอยู่ทั่วไป คนจำนวนมากยังสวดมนต์ก่อนนอน ก่อนกินข้าว ยังเข้าวัดปฏิบัติธรรมยามทุกข์หรือยามต้องการความสงบ
· วัฒนธรรมเปลี่ยนไปแล้ว นั่นแสดงว่ามันเปลี่ยนแปลงได้!
ยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการผลิตเปลี่ยนไป เราอาจคาดหวังให้โลกหมุนกลับไปงดงามดังเดิม นั่นอาจเพราะสิ้นหวังกับอนาคต แต่อดีตนั้นงดงามจริงล่ะหรือ แต่ทั้งหมดนั่นก็ยังไม่ใช่ประเด็น
คำถามที่ไม่ยึดติดกับอดีตหรือรูปแบบน่าจะเป็นคำถามเชิงเป้าหมาย นั่นหมายถึงคำถามที่ว่าตอนนี้เราจะทำอย่างไรให้โลกและชีวิตของเราเต็มไปด้วยสุนทรียภาพ มนุษย์มีโอกาสเติบโตทางจิตวิญญาณ ฯลฯ ซึ่งนั่นหมายถึงมนุษย์ทุกคนต้องมีโอกาสบริโภคได้พอยังชีพ ในขณะที่มนุษย์บางส่วนก็ไม่ต้องร่ำรวยเกินไปจนกระทั่งวุ่นวายกับการบริโภคมากไปจนหลงลืมค้นหาเป้าหมายที่สูงส่งไปกว่าการเสพสุขทางกาม
เราสร้างวัฒนธรรมใหม่ได้ เราสร้างโลกใหม่ได้
สู่การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม
หากสมมติฐานของเรามองว่าความ “เร็วเกินไป” ของมนุษย์ปัจจุบันมีเหตุมาจากทั้งตัวมนุษย์เองที่มีกิเลสอยากเอาชนะและอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมาจากระบบอุตสาหกรรมนิยม ทุนนิยม และบริโภคนิยมแล้ว
หนทางในการปฏิบัติการของเราที่จะคืนจังหวะอันสมดุลให้แก่ชีวิต ก็คงต้องดำเนินการทั้งสองทาง คือดำเนินการที่วิถีชีวิตจิตใจตนเอง และดำเนินการที่ตัวระบบสังคมของเรา
องค์กรต่างๆ ที่สนใจการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อาทิ กลุ่ม We Change สถาบันต้นกล้า กลุ่มละครมะขามป้อม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรีนพีชประเทศไทย และอาศรมวงศ์สนิท กำลังเตรียมการเพื่อรณรงค์ชีวิตช้าลง โดยในช่วงแรกเป็นการร่วมกันทำความเข้าใจกับเนื้อหาของการรณรงค์ จากนั้นก็จะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่ม We Change หนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์ได้เสนอแนวทางเพื่อชีวิตช้าลงใน 3 ประเด็นใหญ่คือ
· ขัดขืนและตื่นรู้
ความเร็วอยู่ในหัวเรา ไม่มีใครมาโบยตียามเราช้า แต่เรานั่นแหละที่ผลิตความเร็วเองทุกวัน
ไม่ต้องไปหาจำเลยที่ไหนไกล วิถีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบและทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันของเรานั่นแหละที่เป็นตัวการ เราเริ่มสร้างวัฒนธรรมของความช้าได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้
เริ่มได้จากการหาเวลาสงบๆ ดื่มชาร้อนๆ มองท้องฟ้า แม่น้ำ แล้วสำรวจตนเองว่าวันๆ หนึ่งเราใช้ชีวิตผิดจังหวะอย่างไร แล้วลองตั้งใจสักหนึ่งวัน เจ็ดวันหรือหนึ่งเดือน หรือทุกๆ วันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ที่จะใช้ชีวิตช้าๆ อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงต่อสังคมมากมาย แต่อย่างน้อยเราได้ช้าลง และมีเวลาให้กับการต่อสู้เพื่อจังหวะชีวิตที่เหมาะสมในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไป
· คืนคุณค่าและปัญญาญาณ
ลองใส่ใจกับกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เราอาจค้นพบว่าเมื่อเราใส่ใจกับกิจกรรมนั้น เราจะทำมันช้าลง เช่น การกินอาหาร อาบน้ำ เดินทาง อ่านหนังสือ กินกาแฟ ล้างจาน ซักผ้า ขึ้นบันได ฯลฯ เราอาจค้นพบคุณค่าหรือเรื่องราวอ้ศจรรย์บางประการที่แสดงตนตลอดเวลาแต่เราไม่เคยใส่ใจในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งนั้น
อย่าลืมว่าทำมันทีละอย่าง ใส่ใจและยังไม่ต้องคิดถึงกิจกรรมต่อไป
· สานสร้างความสัมพันธ์
กลุ่ม We Change รับสมัคร หน่วยล่า...ช้า (Slowly Hunter) เพื่อแสดงตนและสร้างเครือข่ายของคนที่ตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตช้าลง เครือข่ายนี้จะมีสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ
เราจะขยายเครือข่ายการรณรงค์ใช้ชีวิตช้า เพื่อหาจังหวะที่เหมาะสมให้ชีวิตในประเทศไทย ลองดูรายละเอียดที่ www.wechange555.com
นอกจากนี้เรายังจะประสานกับเครือข่ายเพื่อความช้าในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งเครือข่ายชีวิตช้า www.slowdownnow.org ที่รณรงค์ให้คนใช้ชีวิตช้าลง ให้เวลากับชีวิตมากขึ้น และเครือข่ายอาหารช้า www.slowfood.com ที่เน้นที่มาของอาหารที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมและผลิตอย่างใส่ใจ และเครือข่ายเพื่อชีวิตช้าอื่นๆ อีก เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ชีวิตช้า ยังคงมีคำถามอีกมากมาย เมื่อมีใครพูดว่าเราควรจะช้าลง เช่น ทุกวันนี้ก็ใช้ชีวิตช้าอยู่แล้ว-ไม่ทันกิน, ใครจะมีเวลาช้าล่ะ ทุกวันนี้แต่ละวันต้องรีบเร่งก็ยังไม่มีเวลาเลย, การใช้ชีวิตช้าเป็นเรื่องของคนร่ำรวยที่นั่งกินนอนกิน คนจนไม่มีเวลาช้าหรอก ฯลฯ
แน่นอนกระแสชีวิตช้าก็มีอยู่สองส่วนเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องราวของคนมีเงินและคนชั้นกลางที่ปรารถนาชีวิตที่ดีกว่าเดิม และมีเงื่อนไขอำนวย แต่อีกกระแสหนึ่งคือกระแสที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากพอที่จะทำให้ทุกคนไม่ต้องรีบเร่ง รวมทั้งคนยากจนและเกษตรกรที่จะสามารถผลิตอาหารอย่างช้าๆ ตามจังหวะที่ควรเป็นหรือผู้ใช้แรงงานที่ไม่ต้องหามรุ่งหามค่ำ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราต้องร่วมกันสร้าง
เครือข่ายรณรงค์ชีวิตช้าในประเทศไทยจะประสานงานทั้งสองส่วนเพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ต่อสู้กับวัฒนธรรมแห่งความเร็วที่ทำร้ายเราอยู่ทุกวันนี้
เมื่อเราช้าลง โลกจะเปลี่ยนแปลง
20 สิงหาคม 50